Interview : ‘Qucan’ กูคือนักพ่นสี ! skip to Main Content

Interview : ‘Qucan’ กูคือนักพ่นสี !

13731876_927439944035067_5127976561703798357_o

‘Qucan’ คืออีกหนึ่งกราฟฟิตี้อาร์ทติสต์ที่อยู่ในช่วงยุคบุกเบิกของวงการ กับบทสัมภาษณ์ที่เราจะพาคุณไปรู้จักตัวตนและทัศนคติที่มีต่อการทำงาน รวมไปถึงแง่มุมต่างๆ ที่มีต่อ ‘MMT’ Crew กลุ่มกราฟฟิตี้ของเขา ที่ยังคงทำงานและอยู่ในวงการอย่างต่อเนื่องมาตลอด 15 ปี

13404041_1747721662181813_968342112806614750_o

จุดเริ่มต้นที่คุณเริ่มมาสนใจทำงานกราฟฟิตี้ ?

ช่วงนึงตอนเรียน ม.ต้น ผมช่วยเพื่อนทำสีจักรยาน BMX เกิดความรู้สึกอยากลองวาดรุปด้วยสเปรย์ เลยขอพ่นกำแพงบ้านเพื่อนซะเลย ครั้งแรกที่ได้ลองใช้สเปรย์วาดลงกำแพง ตื่นๆ ดีนะ ตอนนั้นนึกไรไม่ออก เพื่อนมันเปิดเพลง ‘Limp Bizkit’ พอดี เลยพ่นชื่อเพลงคำว่า ‘My Way’ พ่นเสร็จ งานดูออกจะเละๆ หน่อย จนเราเริ่มติดใจล่ะ รู้สึกสนุก หลังจากนั้นก็เริ่มพ่นไปเรื่อย เป็นตัวหนังสือบ้าง การ์ตูนบ้าง

เล่าเรื่องราวตอนแรกเริ่ม ที่คุณทำกราฟฟิตี้ให้เราฟังหน่อย ?

ช่วงแรกเริ่มมันค่อนข้างยาก เพราะว่าผลงานเรายังไม่สวย ไปพ่นที่ไหนก็มีแต่โดนไล่โดนด่า บางครั้งก็โดนตำรวจจับ การค้นหาอุปกรณ์พิเศษเพื่อใช้พ่นซึ่งก็สนุกพอสมควร ส่วนตัวผมชอบไปเดินคลองถม ไปค้นหาหัวแบบแปลกๆ มาใช้ บางครั้งก็ได้ลองประดิษฐ์หัวพิเศษมาใช้เอง พวก Marker ที่ใช้ Tag ก็ทำขึ้นเอง เพราะช่วงนั้นหาซื้อของพวกนี้ค่อนข้างยากและก็ได้การยอมรับบ้างในบางสถานที่ บางทีก็มีคนมาจ้างพ่น ได้เจอคนที่ชอบพ่นสีเหมือนกันในบางโอกาส

ยุคแรกตอนนั้นที่คุณเริ่มทำ ความนิยมในยุคนั้นมันเป็นยังไงบ้าง ?

ความนิยมในสังคมกราฟฟิตี้ช่วงนั้น ส่วนตัวผมคิดว่ามีความนิยมพอสมควร เพราะเห็นมีการจัดประกวดพ่นกราฟฟิตี้และงานอีเว้นท์ต่างๆ มีคนพ่นสีเพิ่มขึ้นและหายๆ ไปบ้างตามเวลา ในยุคนั้นเท่าที่จำได้จะบูมมากในเรื่องของงานบอมบ์และ master piece หรือพูดง่ายๆ ว่า คุณไปที่ไหนก็จะมีงานแนวตัวหนังสือเต็มเมืองไปหมด

13071778_873962989382763_4365036288573545989_o

Qucan คือชื่อจากอะไร ?

Qu แทนตัวผม คือ กู ส่วน Can ใช้เรียกแทนสเปรย์ และความหมายแฝงก็คือ ‘กูคือนักพ่นสี’

แล้วแรงบันดาลใจในการทำงานกราฟฟิตี้ของคุณคือ ?

ได้เห็นผลงานของตัวเองและของคนอื่น อยู่ตามสถานที่ต่างๆ  บางครั้งก็เป็นเรื่องราวต่างๆ ที่พบเจอ ดูหนัง ฟังเพลงหรือข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้น

วิธีในการคิดงานของคุณ ช่วยเล่าวิธีคร่าวๆ ให้เราฟังหน่อย ?

ข้อแรก กรณีที่รู้ลักษณะของพื้นที่หรือกำแพงที่จะพ่น กำหนดวางแผนคอนเซปต์และรูปแบบที่จะทำแล้วเตรียมอุปกรณ์ ส่วนข้อสอง กรณีไปเจอสถานที่แปลกใหม่หรือกำแพงที่ยังไม่เคยเห็น ผมจะพ่นแบบคิดสด โดยดูเรื่องราวองค์ประกอบของพื้นที่ตรงนั้น

ผลงานของคุณส่วนใหญ่ จะเป็นงานฟอนท์ซะมากกว่า แต่แน่นอนคุณก็สามารถทำคาแรคเตอร์ได้ดีเช่นกัน แต่เราอยากให้คุณช่วยพูดงานฟอนท์ของคุณว่าอะไรคือเสน่ห์ที่คุณสนใจ ?

จังหวะการทับซ้อนของตัวหนังสือ ที่ดูเหมือนซ่อนความลึกลับและรุนแรง

13043337_873218909457171_4850563954378199883_n

13411740_905172712928457_445694899292643949_o

เท่าที่สังเกตผลงานของคุณ คุณมักจะมีลายเส้นที่มีเอกลักษณ์อยุ่ภายในงานตลอด คุณได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิ่งใด ?

การค้นหาสไตล์และความชอบที่แตกต่าง

แล้วอย่างปัจจุบันนี้คอนเซปต์ในงานของคุณคืออะไร รวมไปถึงฟร้อนท์ของคุณเป็นสไตล์ใด ?

‘Play the Street’ คือคอนเซปต์ หมายถึง เล่นข้างถนน ซึ่งงานกราฟฟิตี้ที่ผมทำจะเน้นรูปแบบ Wild Style บวกกับลายเส้นของผมเอง จะเรียก ‘Qucan Style’ ก็ได้นะ

กราฟฟิตี้ในทุกวันนี้ เป็นยังไงบ้างตามมุมมองของคุณ ?

กราฟฟิตี้ทุกวันนี้ ได้รับการยอมรับแบบหลากหลาย คนพ่นสีก็มากขึ้น รูปแบบการสร้างงานก็ล้ำสมัยมากขึ้น การแสดงงานง่ายและกว้างขึ้น อุปกรณ์หาซื้อได้สะดวกขึ้น สำหรับผมส่วนนึงคือการพัฒนาตามยุคตามสมัยมันเห็นได้ชัดเจน มีผู้คนทำงานแนวสตรีทอาร์ทมากขึ้น ทั้งทำบนข้างถนนจริงๆ และรับทำเป็นอาชีพ ตอนนี้กราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ท มีบทบาทในสังคมพอสมควร ตอนนี้มันเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของคนเมืองเกือบทุกคนแล้ว เพราะไม่ว่าคุณจะไปไหน จะต้องมีงานประเภทนี้อยู่เกือบทุกที่

อะไรคือสิ่งที่คุณได้รับ ตอนเวลาที่คุณออกไปทำกราฟฟิตี้บนถนน อาจจะจากสังคม ผู้คน หรืออะไรก็ตามที่คุณได้รับมา ?

ได้ประสบการณ์หลายรูปแบบกับความสนุก ต่างสถานที่ ต่างบุคคล ได้รู้ว่าคนในพื้นที่ของแต่ละที่ มีการยอมรับมากน้อยแค่ไหน มีบ้างบางครั้งที่ไปพ่นจนคนพื้นที่ทะเลาะกัน คนนึงจะให้ทำ อีกคนจะไม่ให้ทำ แต่ผมก็ดื้อทำจนเสร็จ พอคนที่ไม่ให้พ่นมาเห็นตอนงานเสร็จ ก็พูดว่า เฮ้ย ! เจ๋งว่ะน้อง ไปทำที่ห้องพี่บ้าง

13669286_1761741040779875_4917830542979529127_o

qucan_mmt2

กี่ปีแล้วที่คุณทำกราฟฟิตี้มา มันเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนายังไงบ้างในงานของคุณ หรือรวมไปถึงวิธีคิดของคุณด้วยก็ได้นะ ?

ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ผมพ่นกราฟฟิตี้ การเปลี่ยนแปลงจะเป็นในเรื่องของสไตล์ มีความแปลกมากขึ้น เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมก็สนใจและชื่นชอบในงานรูปแบบสตรีทอาร์ทอยู่พอสมควรก็เลยเกิดการฟิวชั่นกันในระบบการออกแบบงานกราฟฟิตี้ของผม มันทำให้เราสนุกกับการทำงานมากขึ้น ที่ชอบที่สุดคือเล่นกับพื้นที่ แต่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ ในงานผมทุกงานต้องมีความเป็น wild style อยู่เสมอ

นอกเหนือจากงานกราฟฟิตี้  คุณทำอะไรอย่างอื่นบ้างมั้ยที่มันซัพพอร์ทต่องานกราฟฟิตี้ที่คุณทำ ?

ผมมีงานรับทำ display รับพ่นสีตกแต่งตามสถานที่ ออกแบบสติ๊กเกอร์ ออกแบบลายเสื้อ ทุกอย่างมันซัพพอร์ทกันเอง เพราะทุกงานที่ออกแบบจะมีความเป็นกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ทผสมอยู่ สรุปก็คือในทุกๆ วันผมอยู่กับมันตลอด

ในฐานะที่คุณทำกราฟฟิตี้มานาน อะไรคือสิ่งที่คุณอยากให้กราฟฟิตี้เติบโตและพัฒนามากกว่าที่เป็นอยู่ ?

ถ้าไม่มีความขัดแย้งหรือแบ่งแยกทางมุมมองความคิดของคนทำงานสตรีทเหมือนกัน การเติบโตและพัฒนาจะไปได้ไกลแน่นอน

และแน่นอนเท่าที่ผมรุ้มา คุณมีกลุ่มกราฟฟิตี้ด้วย ชื่อ ‘MMT’ มันมีที่มาที่ไปยังไงบ้าง เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนไหน ?

‘MMT’ (Mural Mad Town) คือ เมือง บ้าคลั่ง  ศิลปะบนกำแพง ก่อตั้งเมื่อปี 2001 ช่วงหน้าฝน มีสมาชิกตอนนั้น 3 คน คือ Koolcan, Kimes, Dedo ในช่วงยุคแรกของ MMT จะมีความหมายอีกชื่อนึงคือ  Man Manis Tote คือ ‘รวมคนบ้า’ เพราะทุกคนในกลุ่มมีความหลงใหลและชอบกราฟฟิตี้มากๆ ถึงขนาดเรียกว่าบ้าคลั่งได้เลยนะ ซึ่งสาเหตุที่ชื่อมีการเปลี่ยนแปลงคือ อยากแบ่งยุคในกลุ่มอย่างยุค Man Manis Tote งานจะเป็นพวก Bombing Style ยุค Mural Mad Town จะเป็น Master Piece จนในยุคปัจจุบันนี้มีสมาชิกทั้งหมด 10 คนอย่าง Qucan, Dedo, Con, Stek, Sneak, Soff, Zrim, Voyder, Pntx และ Tark

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณก็ได้ทำงานกราฟฟิตี้ ตอนที่กลุ่มของคุณ ครบรอบ 15 ปี ด้วย ?

ใช่ครับ เป็นงานที่ทำให้รู้ว่าเวลาผ่านไปไวจริงๆ

ตลอดเวลาที่คุณทำกราฟฟิตี้มา อะไรคือสิ่งที่คุณคาดหวังเอาไว้บ้าง ?

หวังความราบรื่นในการทำงาน

13568878_1755607698059876_7641219422192703122_o

13661957_1761741274113185_6432428783367555719_o

‘Qucan’ Favorites ?

favorites Qucan 14

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

*Follow : ติดตามผลงานของเขาได้ที่*

FB : Qucan Mmt

IG : Qucan Mmt

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

Thank Interview : Qucan (MMT)

Credit Foto : Qucan (MMT)

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

Back To Top