Interview : ‘BIGDEL’ The Old School Of Thai Writer skip to Main Content

Interview : ‘BIGDEL’ The Old School Of Thai Writer

ถ้าย้อนไปเมื่อ 16 ปีก่อน วงการกราฟฟิตี้ในเมืองไทยตอนนั้น เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ใหม่จากเริ่มแรกที่มีเพียงไม่กี่กลุ่มคนที่ทำ จนมาในยุคนี้ที่มีอย่างมากมายหลายกลุ่ม ซึ่งถ้าเราจะพูดคุยกับใครซักคนนั้น ถึงอดีตของวงการนี้ที่ในสมัยนั้นถือว่าเป็นอีกช่วงเวลานึงที่น่าสนใจและควรศึกษาไว้สำหรับศิลปินรุ่นหลังๆ รวมไปถึงคนที่สนใจในวงการกราฟฟิตี้ ซึ่งศิลปินกราฟฟิตี้ที่เรานึกถึงอันดับต้นๆ ของวงการอย่าง ‘BigDel’ (บิ๊กเดล) กับในบทสัมภาษณ์ครั้งนี้ที่เขาจะมาเล่าทุกอย่างของวงการกราฟฟิตี้ยุคแรกของเมืองไทย รวมไปถึงผลงานของเขาจากจุดเริ่มต้นจนถึงยุคนี้ ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงและน่าสนใจบ้าง

 

จุดเริ่มต้นกับความสนใจในด้านกราฟฟิตี้ของคุณ ?

ย้อนไปนานมากเลยนะ ประมาณสมัยมัธยม เริ่มจากการเล่นสเก็ตบอร์ด เห็นเป็นตัวหนังสือแบบนี้ตามหนังสือหรือวีดีโอสเก็ต คือเราชอบศิลปะอยู่แล้ว เราก็ฝึกมาตลอดโดยที่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ก็เขียนแท็กตามโต๊ะนักเรียนสมัยนั้น ซึ่งแรกๆ เนี่ยเราจะชอบวาดการ์ตูน เราก็คิดว่าจะโฟกัสการ์ตูนญี่ปุ่นหรือสไตล์อเมริกันดี ซึ่งเราก็เลือกสไตล์อเมริกัน แล้วพอมาเจองานสไตล์นี้ ซึ่งมันมีความเป็นตัวเองสูง ก็เลยเริ่มจากการเขียนแท็กก่อน เราชอบพวกลายเซ็นต์นี้เหมือนเป็นการครีเอทตัวหนังสือขึ้นมาเอง ซึ่งช่วงนั้นสมัยแรกๆ เราก็จะเรียนอยู่ที่นานาชาติ มีเพื่อนๆ มาจากอเมริกา เขาก็มาบอกเรามาสอนเรา หลังจากนั้นก็เริ่มฝึก คือตอนนั้นเราฝึกเขียนแท็ก A-Z อยู่ประมาณสองปีเลยนะ เขียนมาเรื่อยๆ จนมันเป็นสไตล์เรา

แน่นอนเลยว่าช่วงนั้นกราฟฟิตี้เป็นสิ่งที่ใหม่มากๆ อยากให้คุณช่วยเล่าบรรยากาศต่างๆ ตอนนั้นของวงการในบ้านเรา ?

ยุคแรกตอนนั้น คือมันเป็นสิ่งใหม่ของเราและก็เชื่อว่ามันก็เป็นสิ่งใหม่ของใครหลายๆ คนอย่างเพื่อนตอนนั้นที่ทำพร้อมๆ กันอย่าง Dea กับ ปุ๊ก (Puk) คือกำแพงบ้านเราตอนนี้ คนก็ยังมองว่าใหม่สำหรับบางคนอยู่ แต่ถ้าย้อนไป 16 ปีที่แล้ว ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มากๆ มันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะยุคนั้นกราฟฟิตี้หรืองานบอมบ์มันยังมีน้อย ไม่เหมือนอย่างในปัจจุบันนี้ การขอสถานที่ในการพ่นก็ค่อนข้างง่ายกว่า เพราะมันยังไม่ค่อยมีภาพลักษณ์ที่ติดลบเท่าไหร่

 

 

ในยุคนั้น มีการนัดกันไปพ่นหรือไปบอมบ์กันบ่อยมั้ย เพราะกระแสตอนนั้นก็ยังไม่บูมมาก เป็นอะไรที่ใหม่กับศิลปินและสังคมมากเหมือนกัน ?

ก็ไปกันค่อนข้างบ่อย อาทิตย์ละครั้งเลยนะ บางทีทำอาทิตย์หนึ่ง 4-5 วันติด ตอนนั้นจะมีหมู่บ้านร้างแถวเมืองทอง เอาไว้ซ้อมมือ เราจะทำกับเพื่อนชื่อปุ๊กและก็เอ็มบ่อยๆ ซึ่งช่วงนั้นพวกเราก็ฝึกอยู่ตลอด แต่ข้อเสียของมันในยุคนี้ คือทุกวันนี้มันมีคอมพิวเตอร์ มีอินเตอร์เนท คือสมัยก่อนเนี่ยเราเริ่มทำก่อนมีเฟสบุคส์ ยูทูป เลยนะ มันก็เลยต้องฝึกกันเอง ซึ่งต่างจากยุคนี้ที่มีอะไรให้ดูง่ายและมากขึ้น

ช่วงยุคนั้นพวกงานประกวดเเละสื่อมีเดียต่างๆ มีเยอะหรือสนใจกราฟฟิตี้บ้างมั้ย ?

เยอะเหมือนกันนะ อย่างงานแรกที่ดังๆ ก็ที่มาบุญครอง เราก็ลงแข่งกับเพื่อนๆ ด้วย แล้วก็มีงานเรดบลู หลังจากนั้นก็จะมีงานประกวดอยู่เรื่อยๆ แล้วก็มีพวกแบรนด์รถต่างๆ เอางานกราฟฟิตี้พวกนี้มาทำเป็นแบ็คดร๊อปโชว์ภายในงานต่างๆ

 

 

 

 คืออย่างยุคสมัยก่อนพวก Culture อย่าง สเก็ตบอร์ดกับกราฟฟิตี้ มันก็ไปด้วยกันใช่มั้ย ?

ส่วนมากเราว่าคนที่พ่นก็ต้องผ่านการเล่นสเก็ตบอร์ดมาก่อน แต่คัลเจอร์กราฟฟิตี้ของบ้านเรามันไม่เหมือนเมืองนอก  คือที่นั่นเขาเริ่มจากความคับแค้นของสังคม ครอบครัวมีปัญหา เลยต้องออกไประบายตามกำแพงข้างถนน แต่ของเรามันไม่ได้เป็นแบบนั้น เรารับมาในแบบศิลปะ มันก็เลยมีกลุ่มคนที่ฟังเพลงเหมือนกัน มีสังคมที่คล้ายกัน ก็อาจจะเป็นไปได้ว่ากราฟฟิตี้, ฮิปฮอป, สเก็ตบอร์ด มันจะอยู่ในคัลเจอร์เดียวกัน

ในยุคแรกคุณก็ใช้ชื่อแท็กเนม ‘Bigdel’ นี้เลยมั้ย ?

 

 

 

 

 

คือแรกๆ ตอนพ่นเราจะใช้คำว่า ‘Del’ แต่ชื่อจริงๆ จะเขียนว่า ‘Dale’ แต่พอทำมาเรื่อยๆ รู้สึกว่า ‘Del’ มันสั้นไป ก็เลยเติมข้างหน้าอีกหน่อยเป็น ‘BigDel’ คือเราเป็นคนตัวใหญ่ด้วย แล้วพอใช้มาเรื่อยๆ มันก็ค่อยๆ เป็นตัวเรา คือเวลาทำฟ้อนต์ เราจะชอบทำฟ้อนต์ชื่อ ‘BigDel’ มันก็เหมือนรูปภาพรูปนึงสำหรับเรา

แล้วช่วงตอนนั้น คุณเริ่มทำงานด้วยสไตล์แบบไหนในยุคแรกๆ ?

ตอนแรกๆ เรายังไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับสไตล์เท่าไหร่ว่ามีอะไรบ้าง แต่พอเริ่มศึกษามากขึ้นจากหนังสือ ซึ่งต่างจากยุคนี้ที่มี google ซึ่งยุคนั้นมันยากมาก จนก็รู้ว่ามีสไตล์ Throw up, Bombing, Bubble เราก็เริ่มพัฒนามากขึ้น เริ่มรู้ว่าตรงนี้ต้องเเบบนี้ ต้องมีลูกศรนะ เราก็เลยลองมาเรื่อยๆ แต่พอมาถึงจุดนึง เราก็เริ่มมาตัดทอน เริ่มกลับมาสู่เบสิค มาเล่นในเรื่องของความคม, ดีเทล และความเรียบร้อยของงาน ซึ่งตรงนี้มันต้องใช้เวลา อย่างเด็กๆ ในยุคนี้ที่เริ่มทำฟ้อนต์กัน แรกๆ ก็อยากจะทำให้ดูเยอะไว้ก่อน อยากจะเป็นกราฟฟิตี้ แต่พอเข้าจริงๆ ทำไปซักพักมันไม่สำคัญเลย คืออยากให้เริ่มจากง่ายๆ หาสไตล์ของตัวเองก่อน

อย่างผลงานของคุณส่วนใหญ่ มีคอนเซปต์หรือความหมายอะไรที่แฝงอยู่บ้าง แล้วมันสะท้อนอะไรให้กับสังคมหรือชุมชนบ้างมั้ย ?

คือเมื่อก่อนตอนที่เราทำกับเพื่อนๆ กลุ่ม ‘ESA’ คือตอนเราไปพ่น เราจะทำเป็นธีมตามโมเม้นท์ต่างๆ พอมาตอนหลังเราก็มีคอนเซปต์ของตัวเอง อะไรที่เราอยากทำ แต่ก็ไม่ได้อ้างอิงถึงสังคมมาก ซึ่งหลักๆ  เรื่องการสะท้อนสังคม เวลาเราเห็นคนขับรถแล้วยิ้มให้กับงานเเล้วบอกว่า “สวยดีนะ” ซึ่งมันดีกว่าเป็นกำแพงรกร้าง เพราะว่าเราจะมีโจทย์เล็กๆ ของเรา คือจะใช้การเข้าไปขออนุญาตดีกว่า มันจะต้องใช้เวลาในการทำนาน เราก็จะเล็งกำแพงที่รกร้างหรือเวลางานเราไปอยู่มันจะดีกว่าเดิม พอเราทำเต็มที่ เวลามีคนเดินผ่านแล้วถามว่า “ทำอะไร สวยดีนะ” ซึ่งคนอื่นๆ เวลาทำอาจจะนึกถึงไรท์เตอร์คนอื่นๆ เวลาผ่านมาเห็น แต่เราจะนึกถึงป้าหรือคนอื่นๆ มากกว่า แม้เขาจะอ่านไม่ออก แต่มองดูแล้วสวยดี ก็โอเคแล้วนะ

 

 

หลักๆ แล้วแรงบันดาลใจในการทำกราฟฟิตี้ของคุณคือ ?

ก็อย่างที่บอก เราจะชอบวาดการ์ตูน พวกสไตล์อเมริกัน เราก็จะโตมากับการ์ตูนยุค 90’ ถ้าเป็นแบทแมนก็จะเป็นแบทแมนยุคเก่าๆ ส่วนพวกฟ้อนต์ก็จะเป็นยุคเก่าๆ old school, wild style  แล้วเราก็จะมาผสมผสานกับงานกราฟิก หรือบางทีจะเป็นงานฟ้อนต์ที่เหมือนในหนังสือการ์ตูนก็ได้

อย่างในปัจจุบันนี้วงการกราฟฟิตี้ก็พัฒนาไปไกลมาก เปลี่ยนแปลงหลายอย่าง คือเรียกได้ว่าวัฒนธรรมในยุคอดีต อาจจะแตกต่างจากยุคนี้ค่อนข้างมาก ทั้งศิลปิน, ผลงาน, รูปแบบ, มุมมอง, กำแพง หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์ที่ซัพพอร์ทและรองรับการทำงานที่มีมากขึ้น คุณมีความเห็นยังไงบ้างกับสิ่งที่เกิดขึ้น ในฐานะที่คุณเห็นวงการนี้มาตั้งแต่ยุคแรกๆ ?

คนทำงานมากขึ้น มันสามารถพัฒนางานได้เร็วขึ้น มันก็จะมีสายแยกกันไปอย่างงาน Street Art งาน Stencil หรืองานต่างๆ มากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนมันมีน้อย เเต่ถ้าจริงๆ เราก็ไม่ค่อยแคร์หรอกว่าจะต้องกราฟฟิตี้หรืองานอะไรก็ได้ ถ้ามันสวยอยู่บนถนน เราก็โอเคหมด เพราะเราดูงานที่ความตั้งใจ สวยไม่สวยไม่เป็นไร แล้วอย่างพวกสีสเปรย์ก็หาซื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนอย่างสี ‘Montana’ ประมาน 16 ปีที่แล้ว เพื่อนเรามีมันยังไม่เอามาพ่นเลย ซื้อมาเก็บไว้ก่อน ซึ่งมันหายากมาก คือยุคนั้นมันดูยิ่งใหญ่มากเลยนะ จนมายุคนี้คนพ่นเสร็จก็ทิ้งกันเต็มไปหมด แล้วพวกกระแสสังคมก็เริ่มเปิดกว้างยอมรับมากขึ้น

กี่ปีแล้วครับที่คุณทำมา ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงตอนนี้ ?

เกือบ 17 ปีแล้วนะ ในยุคแรกๆ เราก็เคยอยู่ในกลุ่ม ‘PMT’ มาก่อนกับเพื่อนๆ แล้วก็มีนิตยสาร ‘A Day’ ปกพี่ ‘โจอี้ บอย’ ซึ่งพอเล่มนั้นออก คนก็เริ่มรู้จักผลงาน รู้จักศิลปินมากขึ้น เพราะ A Day ในยุคนั้นก็ถือว่าเป็นนิตยสารที่ค่อนข้างแหวกแนวมาก ถือว่าเป็นเล่มแรกในเมืองไทยเลยนะที่สัมภาษณ์เกี่ยวกับกราฟฟิตี้

มุมมองและความคิดที่มีต่อกราฟฟิตี้ที่คุณทำ ยังคงเหมือนเดิมหรือแตกต่างเป็นยังไงบ้าง ?

 

 

 

เยอะมากเลยนะ ทั้งไอเดีย, สไตล์ ทุกอย่างพัฒนามากขึ้น อย่าว่าแต่กราฟฟิตี้เลย ขนาดมือถือยังพัฒนาเลย กราฟฟิตี้ก็เหมือนกัน ถ้ามีคนมาทำเยอะๆ เรารู้สึกว่างานมันจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ คืออย่างตอนเราไปดูงานที่อเมริกา ที่นั่นเขาแข่งกันเลยนะ แต่เขาจะไม่ได้แข่งเอาดีเอาเด่นอะไรกัน ประมาณว่าถ้าคนนี้ทำแบบนี้ อีกคนนึงมาแบบนี้ แล้วถ้าเป็นผมจะรู้สึกว่า เฮ้ย ! มึงทำได้ไง มึงคิดได้ไง คือมันเป็นการแข่งขันในเรื่องของมุมมองเเละสไตล์ ทำยังไงให้รูปแบบมันแตกต่าง ซึ่งโดยรวมๆ เเล้วเราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีมากขึ้น     

อย่างตอนนี้นอกจากที่คุณทำกราฟฟิตี้ คุณก็ยังมีแบรนด์เสื้อ ‘Invisible Empire’ กับรายการกราฟฟิตี้อย่าง ‘Art-Riginal’ และเพจ Art Venture ด้วย ช่วยเล่าถึงที่มาที่ไปให้พวกเราฟังหน่อย ?

คือตอนนี้รายการ Artventure ในทีวีไม่มีแล้ว ซึ่ง Artventure มันจะเป็นรายการที่ออกไปข้างนอกแล้วไปพ่นกัน ถ่ายให้คนดูว่าขั้นตอนทำมันเป็นยังไง ส่วน Art-Riginal ก็จะเหมือนกัน แต่สั้นลงมาหน่อย สอนเทคนิคพ่นต่างๆ อย่างตอนทำ Artventure ก็มีแฟนรายการส่งงานมาให้ดู สอนวาดบ้างหรือบางทีให้เราเขียนชื่อให้หน่อย พอทำเรื่อยๆ ก็เลยมาสอนดีกว่า ก็เลยทำตรงนี้ขึ้นมา เพื่อให้น้องๆ เขามีแนวทางในการทำงานของเขา มันทำให้เรานึกย้อนไปเมื่อ 16 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นคือถ้ามีคนมาสอนเราแบบนี้ เราก็จะไปทุกวันเลยนะ ซึ่งจริงๆ มันเริ่มมาจากคุณ ‘ต่อ TG’ ตอนนี้เขาอยู่ที่อเมริกา ซึ่งเขาเป็นตัวตั้งตัวตี ในการทำโครงการสอนกราฟฟิตี้ ก็จะมีผม, ต่อ, ปุ๊ก, อาร์ท 13 Crown สอนอยู่ที่ใต้ตึกจุฬา เราก็เห็นว่ามันก็มีเด็กสนใจเหมือนกันนะ ซึ่งช่วงนั้นมันจะเป็นยุคกลางๆ ของกราฟฟิตี้ คนก็เริ่มสนใจมากขึ้น เคยไปสอนในโรงเรียนศิลปะด้วย แต่สุดท้ายแล้วกราฟฟิตี้มันเป็นศิลปะที่เฉพาะทาง มันไม่สามารถสอนในเรื่องทฤษฏีสีอะไรขนาดนั้นได้ มันต้องออกไปปฏิบัติ แล้วมันก็ไม่มีรูปแบบตายตัวว่าอันนี้คือถูกคือผิด อย่างเราเรียนดรออิ้ง อันนี้แสงเงาผิดนะ แต่กราฟฟิตี้ไม่มีผิด แค่ออกมาทำก็ถูกแล้ว

อย่างเเบรนด์เสื้อ ‘Invisible Empire’ มีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง 

เรื่องแบรนด์เสื้อเป็นโปรเจคที่เราอยากทำมานานล่ะ อยากให้คนได้เก็บงานเราไว้ด้วย ซึ่งถ้าจะให้เราวาดบนแคนวาส มันก็ไม่ใช่สไตล์เรา แล้วถ้าทำเสร็จเราก็ไม่กล้าขายอีก เพราะฉะนั้นก็เลยคิดว่าเสื้อน่าจะเป็นช่องทางที่ดีที่สุด ที่เราจะสื่อสารกับคนที่เขาชอบงานเราได้ เราก็คุยกับแฟนว่า เรามาทำเสื้อดีกว่า ทำแบบจริงจังเลย ก็เลยคิดชื่อแบรนด์มาเป็น ‘Invisible Empire’  เป็น ‘อาณาจักรล่องหน’ คือเรามีตัวตนอยู่นะคืออาจจะมองไม่เห็นแต่ไม่ใช่ไม่มีนะ ซึ่งส่วนใหญ่ลายเสื้อมันก็จะเป็นคอนเซปต์ที่อ้างอิงจากพวกมนุษย์ต่างดาว เรื่องวิญญาณ มันเป็นเรื่องที่ชอบอยู่แล้ว แต่งานที่เสื้อก็จะเป็นงานกราฟิก ซึ่งก็จะต่างจากงานบนถนนที่เราออกไปทำ ซึ่งในพาร์ทของกราฟฟิตี้ผมก็ทำงานในสายกราฟิกดีไซน์ควบคู่ไปด้วย คือผมจบด้านนี้มา ทำงานประจำด้านกราฟิกดีไซน์มาตลอด พวกสิ่งพิมพ์ต่างๆ จัดเลย์เอาท์ คือถ้าเป็นอาวุธ มีท่าไม้ตายของแต่ละคน อย่างผมก็เป็นกราฟฟิตี้ที่คนรู้จัก กราฟิกดีไซน์ก็เป็นอีกอาวุธนึงของผม ก็เลยคิดว่าเสื้อนี่แหละ น่าจะเหมาะที่สุดละ เริ่มมาจากขายออนไลน์ก่อน จนจับพลัดจับผลูก็มามีหน้าร้าน

คุณมีวิธีอะไรในการคิดงานออกแบบ สำหรับลายเสื้อในแต่ละคอลเลคชั่นบ้าง ?

 

 

 

 

 

คือเสื้อเนี่ย เรามีไอเดียว่าอยากให้คนมีงานของเราเก็บเอาไว้ อย่างเสื้อคนก็ใส่ได้แล้วมันก็เป็นงานเราด้วย ไอเดียเราก็จะออกแบบที่เราชอบอย่างเดียว เเต่พอดูไปดูมามันก็ไม่ได้ เพราะมันก็เป็นธุรกิจด้วย มันแค่เราชอบไม่ได้ มันต้องกลางๆ ใส่ได้หลายๆ คนด้วย แต่หลักของเรา เราจะไม่ทำเสื้อตามแฟชั่น อย่างยุคนี้เสื้อ ‘swag’ ต้องยาวขนาดนี้ มีเส้นแบบนี้ เราจะไม่ทำ เพราะเราไม่ได้ใส่เเบบนี้ หรืออย่างหมวกเราก็ทำแค่ทรงนี้ เพราะเราใส่แค่ทรงนี้ คือเราทำที่เราชอบ ไม่ทำตามกระแสแฟชั่น แต่ก็มาเน้นที่ลายกราฟิกที่เราชอบ ซึ่งตอนนี้เราก็อยู่มา 2 ปีแล้ว มีตัวแทนตามต่างจังหวัด มันติดตลาดมากขึ้น รวมๆ แล้วฟีดแบ็คตอนนี้ก็ค่อนข้างดีเลยครับ

รวมๆ แล้วทั้งหมดในการทำงานของคุณ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ, งานวีดีโอ, งานกราฟฟิตี้ จนถึงตอนนี้ คุณมีความสุขกับสิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ?

ก็มีความสุขมากเลยนะ มันมีความสุขตั้งแต่เริ่มทำกราฟฟิตี้แล้ว ตอนลาออกจากงานประจำก็มีความสุข แล้วก็มาทำงานที่ ‘ก้านคอคลับ’ กับพี่โจ้ จนตอนหลังก็มาทำ Artventure คิดว่านี่ต้องเป็นอาชีพในการหาเลี้ยงเลย หลังจากนั้นก็มีความสุขมาตลอด คือถ้าอย่างคนอื่นๆ ความสุขของเขาวัดด้วยเงินจากงานประจำ แล้วดูแฮปปี้นั่นก็ความสุขของเขา แต่สำหรับเรามันไม่ใช่ เราได้ออกไปพ่นกำแพง ไปทำสิ่งที่เราชอบ คืออย่างน้อยๆ เรารู้ว่าเราชอบอะไร

ช่วงนี้ผลงานของศิลปินในบ้านเรายุคนี้เป็นอย่างไรบ้าง เอาเท่าที่คุณพอได้สัมผัสมา ?

น้องๆ ในยุคนี้เก่งมาก หลายๆ คนที่เราเพิ่งเห็นเเละรู้ว่าเขาเพิ่งมาทำแค่สองสามปีเอง ก็อาจจะเป็นเพราะว่าเขาเรียนด้านจิตรกรรมด้านศิลปะมาด้วย แล้วเกิดความสนใจจากที่เขาเคยทำบนแคนวาสแล้วมาคิดว่าก็สามารถทำบนกำแพงได้ มันก็เลยมีงานเจ๋งๆ มีสไตล์แปลกๆ มากขึ้นแล้วมันก็ทำให้วงการเเละผลงานดูโดดเด่นขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเลยนะ

อะไรคือสิ่งที่คุณสนใจและอยากให้วงการกราฟฟิตี้พัฒนา ในมุมมองของคุณ ?

 

 

 

 

ก็อยากให้ทำกันไปเรื่อยๆ อยากให้ผู้ใหญ่มาสนับสนุนมากขึ้น เรื่องสีสเปรย์ก็พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเเล้ว คืออย่างองค์กรเอกชนตอนนี้ก็ถือว่าดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เราอยากให้รัฐบาลมองและมาสนับสนุนด้วย เพราะจริงๆ รัฐบาลนี่ถือว่าเป็นองค์กรที่ควรจะมาสนับสนุนเป็นสิ่งแรกๆ เลยนะ อย่างประเทศเยอรมัน เขาก็สนับสนุน สามารถมาทำตรงนี้ได้ ซึ่งเราก็ไม่ได้ขออะไรมากเลย อย่างสถานที่ตรงใต้ทางด่วนหรืออะไรก็ตามที่มันไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่ต้องให้เงินก็ได้ เพราะถ้ามีสถานที่ขึ้นมา คนก็จะออกมาทำกันมากขึ้น คนเก่งมากขึ้น เพราะเราเชื่อว่าศิลปินไทยเก่งนะ เพราะอย่างที่เมืองนอกศิลปินเขาก็จะมีสีที่ใช้พ่นกราฟฟิตี้อยู่แล้ว แต่บ้านเรายังเป็นสีในแบบอุตสาหกกรมอยู่เลย ซึ่งเขาก็ทำได้เทียบเท่ากับเมืองนอกเลยนะ

คุณยังคงคิดถึงอดีตตอนพ่นกับเพื่อนๆ หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในตอนนั้นบ้างมั้ย ถ้าเป็นไปได้อยากพูดอะไรให้สำหรับวงการตอนนั้นบ้าง ?

คิดถึงนะ คือเราสนุกตอนไปเจอกัน แล้วก็นัดกันไป มันจะมีกำแพงนึง คนในยุคเราจะจำได้อย่าง ‘กำแพงแดง’ อยู่ตรงอ่อนนุช มีคุณ ‘เป็ด’ และคุณ ‘อาร์ท’ มาจากพัทยา ก็เดินทางมาทำตรงนี้ด้วยนะ เเล้วก็มีอีกหลายๆ คนเลย คือมาพ่นกันเป็นสิบยี่สิบคน นัดกันมาพ่นจริงๆ โทรคุยกัน จะทำแบ็คกราวน์เป็นอะไร แบบไหน มาทำกันไม่เกี่ยวอะไรกับงานโฆษณาหรือเรื่องเงินเลยนะ ซึ่งเราคิดถึงตรงนั้น แต่ในยุคนี้ คือมันมีคนพ่นเยอะก็จริง แต่ก็ต่างคนต่างออกไปทำกันเองมากกว่า ก็อย่างที่บอกว่าเมื่อก่อนกลุ่มพวกนี้มันไม่ใหญ่มากเต็มที่ก็จะมีประมาณ 30 คน นัดรวมกัน มันจะคล้ายๆ งาน ‘Meeting Of Style’ เล็กๆ ในสมัยก่อน เราเลยอยากให้มีนัดรวมตัวกันทำเหมือนสมัยก่อนๆ

 

 

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

‘BigDel’ Favorites ?

 

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

*Follow : ติดตามผลงานของเขาได้ที่*

FB : ArtventureInvisible Empire Clothing

IG : BigDel / Invisible Empire Clothing

Shop Location :  Invisible Empire Clothing @ ‘Talad Rod Fai’ Srinakarind Rd.

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

Thank Interview : BigDel

Thank Location : ThaBeatlounge / Studio ‘BigDel’

Credit Foto & Artwork : BigDel / www.graffiti.orgwww.angelfire.com/art2/bai

Credit Foto Portrait : ‘Mc’ Suppha-riksh Phattrasitthichoke

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Back To Top